|
พระบรมธาตุเมืองนคร สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง |
|
|
วัดพระมหาธาตุเมืองนคร ตั้งอยู่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช มี “พระบรมธาตุเมืองนคร” หรือ “องค์พระบรมธาตุเจดีย์” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณ ปี พ.ศ. 854 ด้วยศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย (หลายคนเชื่อว่ามีลักษณะคล้ายพระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) ภายในบรรจุพระทันตธาตุ (ส่วนฟันของพระพุทธเจ้า)
ในปี พ.ศ. 1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับสร้างเจดีย์องค์ใหม่ทรงศาญจิครอบพระบรมธาตุองค์เดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 1770 มีพระภิกษุจากลังกามาบูรณะองค์พระบรมธาตุให้เป็นแบบทรงลังกาหรือทรงโอคว่ำดังที่เห็นในปัจจุบัน |
|
วัดพระมหาธาตุยามค่ำคืน มองเห็นองค์พระบรมธาตุเจดีย์เด่นตระหง่าน |
|
|
พระบรมธาตุเมืองนคร(ทรงลังกา) มีความสูง 55.78 เมตร องค์ระฆังสูง 9.80 เมตร มีปล้องไฉน 52 ปล้อง ปลียอดหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุทองคำ” ขณะที่ยามแสงแดดตกต้ององค์พระธาตุ เหลื่อมเงากลับทาบทอดไม่ถึงพื้น จนดูเหมือนพระธาตุไม่มีเงา จึงทำให้ได้รับการเขียนขานว่าเป็น “พระธาตุไร้เงา” อีกฉายาหนึ่ง
นอกจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้ว วัดพระมหาธาตุยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลากหลาย โดยในหนังสือ “ตามรอยธรรมที่เมืองนคร” ได้คัด 12 สิ่งน่าสนใจในวัดพระมหาธาตุมานำเสนอในหัวข้อ “12 สิ่งควรรู้ ที่พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร และใน 3 พระวิหารที่ไม่ควรพลาด” ซึ่งสรุปได้ดังนี้ |
|
พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราชในพระวิหารหลวง |
|
|
พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช : เป็นองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่และงดงามด้วยศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น มีขนาดหน้าตัก 3 วา 1 ศอก 12 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานชุกชี พร้อมด้วยพระอัครสาวก ซึ่งเป็นองค์พระประธานที่ประดิษฐานต่างๆ จากที่อื่นๆ เพราะตั้งไว้ค่อนข้างกลางพระวิหาร
พระเหมชาลาและธนกุมาร : ตั้งอยู่หน้าพระวิหารตรงหน้าซุ้มประตูเยาวราช ตามตำนานระบุว่าพระธนกุมารเป็นเจ้าชายอินเดีย พระนางเหมชาลาเป็นพี่สาวพระธนกุมาร ทั้งคู่เป็นผู้อัญเชิญพระทันตธาตุมายังดินแดนนี้ ก่อนจะอัญเชิญต่อไปยังลังกา โดยได้แบ่งบางส่วนกลับมาประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุเมืองนคร |
|
ทางเดินในพระวิหารคด |
|
|
ซุ้มพระเจดีย์-พระวิหารคด : เป็นซุ้มเจดีย์หน้าทางเข้าวิหารคด ศิลปะศรีวิชัยมีหลายเรือนยอด(แบบเดียวกับพระธาตุไชยา) เชื่อว่าอาจจะเป็นแบบดั้งเดิมขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ส่วนพระวิหารคดนั้นน่ายลไปด้วยพระพุทธรูปจำนวนมากที่ประดิษฐานอยู่เรียงราย และมีบาตรพระให้ทำบุญกันตามศรัทธา |
|
ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ ประดิษฐานอยู่ทางเข้า-ออก องค์พระธาตุ |
|
|
ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ : ในวิหารพระม้าที่เป็นบันไดทางขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุ ด้านซ้าย-ขวา มีรูปปั้นของเทพผู้พิทักษ์คือ ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ ประดิษฐานอยู่ขนาบข้างประตูทางเข้า-ออก องค์พระธาตุ ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ เป็นเทพที่เชื่อว่าคือท้าวจตุคามรามเทพ อันลือลั่นแห่งเมืองนคร นอกจากเทพทั้งสองแล้วที่นี่ยังมีผู้พิทักษ์อื่นๆ อาทิ ท้าวจตุโลกบาล นาค ครุฑ สิงห์ เป็นต้น |
|
เชื่อว่าการได้ห่มผ้าพระบฏบูชาพระบรมธาตุเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต |
|
|
ห่มผ้าพระบฏบูชาพระบรมธาตุ : ชาวใต้ต่างเชื่อกันว่าการได้ห่มผ้าพระบฏบูชาพระบรมธาตุถือว่าเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต โดยที่วัดพระมหาธาตุได้มีการจัดงานใหญ่ “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” ขึ้นในช่วงวันมาฆบูชา อย่างไรก็ดีชาวพุทธสามารถมาทำบุญห่มผ้าพระบฏบนลานประทักษิณบูชาองค์พระธาตุในช่วงวาระไหนก็ได้ |
|
งานปูนปั้นนูนสูงภาพพระม้าในวิหารพระม้า |
|
|
ภาพพระม้า : อยู่ในวิหารพระม้าบริเวณฐานข้างบันไดทั้งสองข้าง ภาพพระม้าเป็นขนาดใหญ่ สร้างทำอย่างประณีตสวยงามในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเรื่องราวการละโลกออกแสวงหาทางธรรมของเจ้าชายสิทธัตถะ |
|
เส้นทางพระเจ้าตากฯในวิหารทับเกษตร |
|
|
เส้นทางพระเจ้าตาก : อยู่ที่วิหารทับเกษตร เป็นเส้นทางที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยมาเดินปฏิบัติธรรมที่นี่ ภายในมีพระพุทธรูปยืน-นั่ง ประดิษฐานอยู่มากมาย รวมไปถึงภาพจิตรกรรม รูปเคารพเกจิ ซึ่งหากสังเกตให้ดีๆ จะพบว่ามีพระพุทธรูปองค์หนึ่งนิ้วมือข้างหนึ่งมี 6 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าชู้ที่ถูกหลักเสียบไว้พร้อมกับมือที่ถูกตัด เนื่องจากไปแอบลักลอบมีชู้กับภรรยาผู้อื่น |
|
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ในพิพิธภัณฑ์วิหารโพธิ์ลังกา (ภาพ : ททท.) |
|
|
วิหารโพธิ์ลังกา : เป็นวิหารสัญลักษณ์แห่งการตื่นตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีส่วนหนึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์มากไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจหลากหลาย
พิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุ : ถือเป็นแหล่งรวมของดี ของหายาก(มาก)ประมาณค่าไม่ได้ จัดแสดงไว้ใน 3 วิหารใหญ่ คือ วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา และวิหารคด(ต่อเติม) |
|
ขอพรพระมหากัจจายนะ |
|
|
พระมหากัจจายนะ : ประดิษฐานอยู่ที่วิหารพระมหากัจจายนะ(วิหารพระแอด) มีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า “พระแอดเมืองนคร” มีองค์สีทองอร่าม เชื่อกันว่าท่านสามารถดลบันดาลความสำเร็จสารพัด โดยเฉพาะการขอลูก จึงมีรูปเด็กๆ มารายงานผล ขอพรพร้อมกับการฝากเนื้อฝากตัวมากมาย |
|
มณฑปพระพุทธบาท |
|
|
มณฑปพระพุทธบาท :ป็นมณฑปตั้งอยู่บนเนิน ภายในประดิษฐาน รอยจำลองพระพุทธบาท ยาว 74 นิ้ว กว้าง 44 นิ้ว ตรงบันไดทางขึ้นมีพระบุญมากพระพุทธรูปหินทรายที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านนิยมไปบนบานขอบุตรและโชคลาภ นอกจากนี้บนมณฑปยังเป็นจุดชมองค์พระธาตุในมุมสูงอีกด้วย |
|
เจดีย์พระปัญญา(ภาพ : ททท.) |
|
|
เจดีย์ศิลาในดงหว้า-พระปัญญา : เจดีย์ศิลาในดงต้นหว้าทั้ง 6 ตั้งอยู่ที่ข้างพระวิหารธรรมศาลาด้านหน้า สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวเนื่องกับผู้ทรงศักดิ์ระดับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เชื่อกันว่าอาจจะหนีราชภัยมายัง จ.นครศรีธรรมราช จึงกลายเป็นสถานบูชาถึงพระองค์ท่านมาจนถึงบัดนี้ ส่วนเจดีย์พระปัญญาตั้งอยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์พระวิหารเขียน มีเรื่องเล่าว่าได้มีการผูกแทงลายห้ามไว้ว่า “ถอยหลังเข้าไปเหล็กในแทงตา หันหน้าออมากาขี้ใส่หัว” แต่มีผู้มีปัญญามาแก้ เพราะเห็นว่าเป็นคำห้ามที่ขาดเหตุผล จึงลองเดินถอยหลังเข้าไปแล้วหันหน้าออกมา จึงได้เห็นกรุสมบัติซ่อนอยู่ในหลืบเฝ้าทางเดิน จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดสอยปริศนาธรรมเรื่องกาลามสูตรที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่าอย่าเชื่อด้วยเหตุประการต่างๆ นอกจากลงมือทำเองแล้วเท่านั้น
นั่นก็คือ 12 สิ่งน่าสนใจของวัดพระมหาธาตุเมืองนคร ที่มีทั้งสิ่งที่เป็นไฮไลต์หลายคนรู้จักกันดี สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้จัก และสิ่งที่เป็นอันซีนอันน่าสนใจ ซึ่งนี่ถือเป็น 12 สิ่งไม่ควรพลาดสำหรับผู้มีโอกาสได้เดินทางไปกราบไว้สักการะองค์พระบรมธาตุเมืองนคร ที่วันนี้ถือเป็นว่าที่มรดกโลกแห่งใหม่ของบ้านเรา |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น